ในปี พ.ศ. 2566 นี้ คำขวัญมีอยู่ว่า “รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี” ซึ่งการจัดงานก็เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญและความต้องการของเด็ก กระตุ้นให้เด็กตระหนักรู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและมีส่วนร่วมในสังคมเพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป ส่วนการจัดงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้น จัดภายใต้แนวคิด “อนาคตเด็ก อนาคตประเทศไทย”
ถ้าเป็นสมัยก่อน ในวัยที่ผู้เขียนยังเป็นเด็กเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว พอคำขวัญวันเด็กออกมา ครูที่โรงเรียนก็จะให้พวกเราท่องจำไว้ เพราะในวันเด็ก เราจะได้นำคำขวัญนี้ขึ้นไปตอบคำถามบนเวที เพื่อรับรางวัลจากผู้จัดงาน จำได้ว่าแต่ก่อนเด็กๆ ในชนบทจะไม่ค่อยได้มีโอกาสในการออกนอกหมู่บ้านและโรงเรียนด้วยข้อจำกัดระยะทางและการเดินทางเข้าในเมือง ฉะนั้นการได้ออกไปทัศนศึกษา และได้ของรางวัลจึงเป็นเรื่องที่เด็กๆ เจ็นเอกซ์ ตั้งหน้าตั้งตารอคอยเลย
สบายใจเลยชอบคิด และทบทวนความเป็นมาเป็นไป เพื่อให้เราได้รับรู้และเห็นเท่าทันการเปลี่ยนแปลง ในสมัยที่เราเป็นเด็ก เราอาจไม่ได้คิดอะไรเพราะเราก็สนุกไปตามวัย และทำอะไรก็ได้ตามที่ผู้ใหญ่จัดให้ พอเราเป็นผู้ใหญ่เราก็เลยมานั่งคิดว่ามีอะไรน่าสนใจหลายอย่าง...ในมุมมองเรื่องการเลี้ยงดูเด็ก เฉพาะเจอะจงเรื่องงานวันเด็กเลยก็ได้ มีอะไรที่เปลี่ยนไป และอะไรที่เหมือนเดิม
คำขวัญวันเด็ก เด็กๆ ได้รับคำขวัญวันเด็กจากผู้ใหญ่มาก็เกือบ 60 ปีแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ในฐานะเด็กๆ สมัยก่อน เราก็ท่องจำกันทุกปี แต่เด็กในวัยนั้น เราเข้าใจกันบ้างไหม? ถ้าตอบจากประสบการณ์ตัวเองคือไม่เข้าใจหรอก จำไว้เพราะเราอยากได้รางวัลฮา....แล้วเด็กสมัยนี้เขายังท่องจำคำขวัญกันอยู่ไหม? และสมมติว่าเขายังต้องท่องจำกันอยู่ มีคนทำให้เขาเข้าใจความหมายของคำขวัญวันเด็กหรือยัง?
รางวัลในวันเด็ก ในอดีตของรางวัลส่วนใหญ่ที่ได้รับ จะเป็นของที่จำเป็นสำหรับการเรียน เครื่องเขียน สมุด ปากกา ดินสอน ยางลบ ไม้บรรทัด และขนมล่อเด็กแบบ ต่างๆ แอบคิดไปว่า ในสมัยนี้เด็กๆ เขาใช้ไอแพด และมือถือกันแล้ว และของกินมีให้กินตลอด 24 ชั่วโมง จากร้านสะดวกซื้อเด็กๆ เขายังตื่นเต้นกับของรางวัลและชนมกันไหม?
วันเวลาในการจัดงานวันเด็ก ส่วนมากแล้วจะเห็นจัดตามสถานศึกษาต่างๆ พิพิธภัณฑ์ ค่ายทหาร (และสมัยนี้ตามองค์การบริหารส่วนตำบล) เป็นเวลา 1 วัน แต่จะนับว่าหนึ่งวันก็คงไม่ใช่ เพราะหลังเที่ยงไปแล้ว ก็แทบไม่เหลือใครแล้ว คนทีไปช้าคือไปช่วยเก็บเวที เป็นเหมือนงานปาร์ตี้สำหรับเด็กที่จบลงอย่างรวดเร็ว มานึกถึงสมัยนี้ถ้าพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ดูแลที่ติดงานตอนเช้า ยังคิดอยากพาเด็กๆ ไปตามงานลักษณะดังกล่าวอยู่ไหม? เด็กๆ เขายังอยากไปเที่ยวเล่น และล่ารางวัลเหมือนสมัยก่อนไหม?
รูปแบบการจัดงานวันเด็ก ส่วนมากเป็นการส่งเสริมการกล้าแสดงออกบนเวที ใครที่มีความสามารถพิเศษ เช่น การร้องรำทำเพลงก็จะได้เปรียบ เมื่อนึกไปแล้วก็จะเหมาะสำหรับเด็กที่เป็นมนุษย์สังคม (Extrovert) แต่สมัยนี้เราเข้าใจเด็กกันมากขึ้น เด็กที่เป็นกลุ่มเก็บตัว (Introvert) เขาอาจะไม่กล้าไปเต้น ไปร้องเพลงหรือตอบคำถามบนเวที เขาจะรู้สึกอย่างไร เราจะควรมีพื้นที่ให้เด็กกลุ่มนี้ได้แสดงความคิดเห็นมากขึ้นไหม?
สุดท้ายเลยคือเรื่องของเป้าหมายของการจัดงาน การจัดงานวันเด็กแต่ละปีก็เป็นการกระตุ้นให้เด็กตระหนักรู้ถึงความสำคัญของตัวเด็กเอง เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและมีส่วนร่วมในสังคมเพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป อยากรู้จักเลยว่า แล้วผู้ใหญ่ได้ทำให้เด็กๆ ได้รู้จักสิทธิ หน้าที่ของตัวเองกันหรือยัง? อยากฟังเสียงเด็กๆ พูดแบบใสๆ ว่าเขารู้ว่าเข้ามีหน้าที่อะไรบ้าง?
ถามมาก็เยอะแล้วตามประสาผู้ใหญ่ที่ไม่มีเด็กๆ ให้ดูแลแล้ว แต่ด้วยเราเห็นความความสำคัญของเด็ก ว่าเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า เขาจะกลายเป็นผู้บริหารจัดการบ้านเมือง เราเลยต้องให้พื้นที่ ให้เวลา ให้เขาพูดให้เราฟังสักหน่อย
พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ดูแล ได้คำตอบว่าอย่างไร นำมาฝากกันหน่อยนะคะ...
อ้อ...แล้วถ้าเป็นเด็กๆ เองมาอ่านเจอก็มาตอบได้นะคะ สบายใจเลยไม่ได้จำกัดอายุผู้อ่านเน้อ..เอาที่สบายใจเลยน้า...
Comments