หนึ่งหน้า...น่าอ่าน เรื่องล่าสุดของสบายใจเลย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทิ้งท้ายไว้กับมุมองของความรัก (Love’s perceptions) ซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องจากประวัติวันวาเลนไทน์ เป็นการชวนให้เราได้ลองใส่แว่นตาความรัก ในหลากหลายมุมมอง หลังจากทิ้งระยะไว้พอสมควร อยากจะมาชวนเรา เจาะลึกถึง ความรักที่เกี่ยวกับการแต่งงานมีครอบครัว ซึ่งเป็นความรักในรูปแบบหนึ่ง
ทบทวนเรื่องเส้นทางหรือความเชื่อมโยงของความรัก ที่เราได้วิเคราะห์ไว้ด้วยกันก่อนหน้านี้ สักหน่อยนะคะ เริ่มจากต้นกำเนิดของความรักก่อน ซึ่งอาจมาจากหลายที่แล้วแต่ความเชื่อของเรา ในที่นี้เราเรียกว่า ความรักจากเบื้องสูงก็แล้วกันนะคะ การที่เรารู้สึกว่าเราได้รับความรัก หรือ ถูกรัก (Being loved) ก็เหมือนว่าเราได้รับพลังงานความรักที่สัมผัสได้ ทำให้เรารักตัวเอง มีความสุข และอยากส่งต่อความสุข/ความรักต่อไปอีก ส่วนมากก็มักจะเริ่มจากคนใกล้ๆ ตัวก่อน เช่น ความรักที่เรามีให้กับคนในครอบครัว รักพ่อแม่ รักพี่น้อง รักลูกเหมือนมีครอบครัวเปี่ยมรัก หรือครอบครัวอบอุ่นดี และมีความสุขนั่นเอง ซึ่งหากกระบวนการนี้ไม่มีปัญหา สมบูรณ์ดี สมาชิกในครอบครัวก็จะมีความรักและความสนใจต่อสังคมภายนอกมากขึ้น เช่น เริ่มใส่ใจ ต่อเพื่อนเรียน เพื่อนร่วมงาน ครู อาจารย์ ลูกศิษย์ องค์กร คือรักสังคมนั่นเอง เพื่อนร่วมงาน และ พัฒนาการที่สำคัญต่อมาคือความรักใคร่ของวัยที่เหมาะสม ที่มักจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพศนั่นเอง (สมัยนี้รวมได้หมดค่ะ ไม่ว่าจะเป็นชายหญิงหรือ LGBTQ)
มีคนกล่าวไว้ว่า รักจากพ่อแม่เป็นความรักที่เชื่อว่าเป็นความรักแบบไม่มีเงื่อนไข เกิดมาก็รักเลย จริงๆ รักตั้งแต่ยังไม่เกิดก็มี ในความเห็นส่วนตัว สบายใจเลยคิดว่า ความรักของพ่อแม่ก็ถือว่ายังเป็นความรักที่มีเงื่อนไข เรารักลูกเราหรือพ่อแม่เรา เพราะเรามีความสัมพันธุ์กัน ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นเลือดเนื้อเชื้อไข เป็นความผูกพันที่มีมาตั้งแต่กำเนิด จะสังเกตุเห็นได้ว่า ปัญหาในครอบครัวโดยส่วนใหญ่ก็เป็นเพราะเรื่องราวความมีเงื่อนไข เช่น สามี-ภรรยา ไม่พอใจกันเพราะมีความคาดหวังต่างๆ จากกันและกัน ซึ่งอาจเป็นเรื่องการงาน การเงิน เวลา ความเอาใจใส่ฯลฯ ต่อมาก็มักพบเรื่องราวความมีเงื่อนไขในครอบครัว ที่คล้ายๆ กันระหว่างพ่อแม่ลูก ก็เพราะเมื่อพ่อแม่ ก็มีความคาดหวังกับลูกในบางสิ่ง เช่น ความรับผิดชอบ การเรียน การวางตัว ฯลฯ และลูกอาจมีการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น หรือเทียบกับพ่อแม่ในครอบครัวอื่น เป็นต้น
ดังนั้นถ้าเราสามารถรักคนอื่น หรือสิ่งอื่นได้ (ที่ไม่ใช่คนใกล้ชิด เช่น ครอบครัว พ่อ แม่ ลูก หรือญาติ) สบายใจเลยถือว่าความรักนั้นยิ่งใหญ่กว่า จัดเป็นรักที่สากล เป็นกลาง เพราะคนเหล่านั้นที่เรามีใจให้เขา ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียกับชีวิตเราเลย แต่เราก็ยังมีใจและให้ความรักกับเขาได้ ยิ่งไปกว่านั้นหากเราสามารถรักสิ่งที่ไม่ใช่คน และไม่ใช่เป็นสิ่งที่มองเห็นและจับต้องได้ เช่น ความรักสัตว์ ความรักพืช รักสิ่งของบางอย่าง รักความสงบ สันติ เสมอภาค และเสรีภาพ เหล่านี้จะถือว่าเป็นความรักแบบไม่มีเงื่อนไขกว่าไหมคะ?
コメント