top of page
eatloeithailand

หนังสือสร้างนิสัย #1.4 Atomic Habits


มาถึงตอนสุดท้ายของหนังสือ Atomic Habits: An Easy and Proven Way to Build Good Habits & Break Bad Ones โดย James Clear แล้ว สบายใจเลยนำมาสรุปให้ฟังอย่างสั้นๆ ตามหลักการอ่านเร็วนะคะ โดยขั้นแรกจะ จะดูว่าเนื้อหาของหนังสือเกี่ยวกับเรื่องอะไร และต้องมีเป้าหมายในการอ่าน หนังสือบางเล่มเป็นการอ่านเพื่อความบันเทิงก็อาจจะต้องละเมียดละไมในการอ่านให้ได้สุนทรียทางอารมณ์ แต่หนังสือบางเล่ม เช่น ในส่วนของหนังสือสร้างนิสัยที่จะได้นำมาฝากกันอย่างต่อเนื่องนี้ เป็นหนังสือเชิงหลักการพัฒนาตน เพื่อการนำไปปฏิบัติ ดังนั้นหลักใหญ่ใจความคือ การอ่านให้เกิดความเข้าใจในสาระสำคัญและการนำไปฝึกปฏิบัติ ถ้าเรามีเวลาจำกัด เราสามารถเริ่มอ่านที่สารบัญของหนังสือ แล้วก็สามารถไปดูที่สรุปได้เลย


ในการอ่านสารบัญและสรุปนั้น จริงๆ ไม่ได้แปลว่าหนังสือที่เราอ่านนั้นไม่ดีหรือไม่มีอะไรให้น่าค้นหานะคะ แต่ในการทำพอร์ตคาส 3-5 นาที และการทำบล้อกสรุปหนังสือเพียงแค่ 1 หน้า (ให้อ่านจบไม่เกิน 3-5 นาที) นี้ก็เพื่อ เป็นการสร้างนิสัยให้กับตัวเอง (และหวังว่าจะได้แก้ปัญหาให้กับผู้ฟัง และผู้อ่านด้วย) ว่าหากเราเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ด้วยการอ่านหนังสือ หรือการฟังสิ่งที่มีประโยชน์ เราก็สามารถทำได้ภายในเวลาจำกัด ซึ่งเป็นเรื่องราวหลัก หรือใจความสำคัญของหนังสือเล่มนี้เลยว่า เราต้องเริ่มทีละเล็กละน้อย แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ



โดยสรุปในเรื่องของเนื้อหาหนังสือการสร้างนิสัยเล่มนี้ จะมี 4 สิ่งที่จะไปเชื่อมกับวงจร ที่ได้พูดถึงก่อนหน้านี้คือ

วงจรแรกที่เขาพูดถึงกันก็คือเรื่องของตัวกระตุ้น (Cue) คือสิ่งที่ทำให้เราได้รับรู้ เช่น ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้สัมผัส หรือได้เกิดความรู้สึกบางอย่าง นั่นคือต้องสร้างสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นนั้นให้เด่นชัด เห็นได้ง่ายนั่นคือ Make it obvious ทำให้สิ่งที่เราสนใจนั้น เป็นรื่องที่เห็นได้ง่าย


วงจรที่ 2 คือความอยาก (Craving )เมื่อได้รับรู้แล้ว จะต้องทำให้ความอยากนั้นสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดใจ เช่น การได้เห็นอาหารบางอย่าง การได้ดูภาพที่ท่องเที่ยวบ้าง การได้กลิ่นอะไรบางอย่าง ที่ทำให้เกิดความอยาก และต้องเป็นความอยากที่ดีที่ดึงดูดใจ นั่นคือ Make it attractive ทำให้สิ่งที่เราอยากทำนั้น เป็นเรื่องที่น่าดึงดูดใจ น่าสนใจ


วงจรที่ 3 คือการตอบสนอง หรือลงมือทำ (Response) คือการตอบสนองต่อความอยากของเรานั่นเอง ปลายทางสุดท้ายของการลงมือทำ ควรจะเป็นอะไรที่สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องคิด สามารถทำได้เลย โดยไม่ต้องเห็นตัวกระตุ้น ไม่ได้อยาก แต่ก็ทำไปเลยเพราะว่ามันติดเป็นนิสัยแล้ว นั่่นคือ Make it easy ทำให้สิ่งที่เราอยากทำนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายๆ


วงจรอันที่ 4 คือผลตอบสนองจากการกระทำ หรือความรู้สึกที่ได้รับจากการกระทำนั้นๆ (Rewards) ควรต้องเป็นความรู้สึกที่พึงพอใจหรือสมใจอยาก นั่นคือ Make it satisfied ทำให้สิ่งที่เราอยากทำนั้น เป็นเรื่องที่พอทำแล้วรู้สึกดี และเป็นที่พึงพอใจ


สรุปสั้นๆ ในวงจร 4 วงจรอีกครั้งว่า หนึ่งคือ ให้มีตัวกระตุ้นที่เห็นได้ง่าย สองคือ ให้มีความน่าดึงดูดใจในสิ่งที่อยาก สามคือ ให้การตอบสนองต่อความอยากนั้นทำได้ง่าย และสี่คือ ให้เกิดความรู้สึกดีและพึงพอใจจากการตอบสนองหรือการกระทำนั้นๆ

ยกตัวอย่างเรื่องการออกกำลังกาย

1. คือต้องสร้างบรรยากาศ สถานการณ์การออกกำลังกายให้เเห็นได้งาย เช่น เห็นสนาม เห็นรองเท้าวิ่ง เห็นเพื่อน เห็นรายการทีวี เห็นอะไรๆ เกี่ยวกับการออกกำลังกายทั้งหมดเลย เพื่อเป็นตัวกระตุ้นทำให้เรารู้สึกอยากจะออกกำลังกาย


2. เมื่อเราเห็นเรื่องตัวกระตุ้นในการออกกำลังกายแล้ว ตัวกระตุ้นเหล่านั้นจะต้องเป็นอะไรที่น่าสนใจ และดึงดูดใจ เช่น คนที่ออกกำลังกาย หน้าตาและรูปร่างดี เสื้อผ้าก็สวย สนามก็ดี


3.เมื่อเกิดความอยากแล้ว ดูน่าสนใจและดึงดูดใจแล้ว ในการที่จะเริ่มออกกำลังกายจะต้องทำให้มันง่าย นั่นคือขจัดความยากออกให้หมด เช่น ถ้าสนามไกล ไม่มีรถไป ไม่มีเพื่อน ก็จะทำให้วงจรไม่สมบูรณ์ ในวงจรที่ 3 นี้จะต้องทำให้ง่ายเข้าไว้ สามารถทำได้เลย เช่น รองเท้าใส่สบาย มีที่ออกกำลังกาย มีเพื่อนทำ หรือทำอะไรง่ายๆ ก่อน เช่น เดินรอบบ้านไปก่อนก็ได้


4. การเริ่มต้นเบาๆ ก่อนก็จะทำให้เกิดความรู้สึกดี มีความพึงพอใจ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็อยากจะกลับไปทำอีก และทำต่อได้เรื่อยๆ


วงจรนี้ไม่ใช่แค่เพียงจะส่งเสริมการสร้างนิสัยที่ดีเท่านั้น เมื่อเข้าใจหลักการก็สามารถนำไปใช้การแก้นิสัยที่แย่ได้ด้วย โดยใช้ในทางกลับกัน ยกตัวอย่างเรื่องของการสูบบุหรี่

1. ต้องเก็บตัวกระตุ้น ต่างๆ ที่เกี่ยวกับบุหรี่ไม่ให้เห็นได้ง่าย เช่น ตอนนี้เราไม่สามารถหาซื้อบุหรี่ได้ง่ายๆ ร้านค้ายังต้องใส่ล้อกเกอร์ไว้


2. สร้างสิ่งกระตุ้นเหล่านั้นให้เป็นเรื่องที่ไม่น่าดึงดูดใจ เช่น ในซองบุหรี่ หรือในโฆษณาต่างๆ ก็จะทำให้เรื่องบุหรี่เป็นเรื่องน่าเกลียด ไม่นาดู ไม่บันเทิง


3. หากได้บุหรี่มาแล้ว การที่จะสูบบุหรี่ก็ไม่สามารถทำใด้ง่าย เพราะจะมีข้อห้าม และมีพื้นที่เฉพาะเท่านั้นที่จะสูบบุหรี่ได้


4. การสูบบุหรี่จะไม่ได้รับผลเป็นที่น่าพึงพอใจ เช่น บุหรี่ราคาแพง อาจโดนเตือนหากสูบผิดที่ หรือคนใกล้ตัวอาจจะไม่ยอมรับพฤิตกรรมสูบบุหรี่เป็นต้น


การที่ยกตัวอย่างของการออกกำลังกาย (การสร้างนิสัยที่ดี) และการสูบบุหรี่นี้ขึ้นมา (การขจัดนิสัยที่แย่) เพราะอยากให้พวกเราเห็นว่า การสร้างนิสัยที่ดีหรือการขจัดนิสัยที่ไม่ดีนั้น เมื่อได้อ่านแล้วจะเห็นว่าจริงๆ แล้วมันไม่ยาก แต่การฝึกฝนและความสม่ำเสมอเท่านั้นที่จะทำให้เกิดขึ้นได้


หนังสือทุกเล่มมีดีแต่ด้วยเวลามีจำกัด เลยต้องสรุปสั้นๆ ไว้ก่อน จะทำให้เรามีเวลาในการทำความรู้จักกับผู้แต่งและหนังสืออีกหลายๆ เล่มเลย ในซีรีย์ของหนังสือสร้างนิสัยนี้ จะเป็นที่น่าสนใจว่า ในเรื่องเดียวกัน เราจะได้รับความหลากหลายจากแนวคิดที่แตกต่างกันของผู้เขียน เมื่อเราได้เห็นโครงสร้างของแต่ละหนังสือแล้ว ต่อไปถ้าเราสนใจ เราก็สามารถกลับมาอ่านรายละเอียดได้อีกที


หวังว่าในตอนนี้ ก็ยังคงมีสาระดีต่อใจและเอาไปใช้ได้จริงเหมือนเดิม ฝากทุกคนนำไปเริ่มจากนิสัยเล็กๆ อันใดอันหนึ่ง ได้ความอย่างไรก็มาแลกเปลี่ยน และเล่าสู่กันฟังด้วยนะคะ


Comments


bottom of page