วันหยุดยาวนี้ 13 - 15 เมษายน 2566 นี้ มีหลายวันที่มีความสำคัญ วันที่ 13 คือวันสงกรานต์หรือปีใหม่ไทย วันที่ 14 คือวันครอบครัว และ 15 คือวันผู้สูงอายุไทย
หากท่านผู้อ่านค้นหาคำว่า “วันครอบครัว” เข้าไปในกูเกิ้ลตอนนี้ สิ่งที่จะเจอเว๊บไซด์ไทยจะมีขึ้นมาเต็มไปหมด แต่แนะนำว่าไม่ต้องไปตามอ่านทุกหน้าที่ขึ้นมานะคะ เพราะ เนื้อหาเหมือนกันหมดไม่แน่ใจว่าเพจไหนเป็นต้นฉบับ สบายใจเลย ขอยึดตามคำนิยามของคำว่า “ครอบครัว” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ที่เป็นคำนาม แปลว่า สถาบันพื้นฐานของสังคมที่ประกอบด้วยสามี ภรรยาและหมายความรวมถึงลูกด้วย
เมื่อแยกคำว่า สถาบันออกมา สถาบัน หมายถึง สิ่งซึ่งคนในส่วนรวม คือ สังคม จัดตั้งให้มีขึ้นเพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการและจำเป็นแก่วิถีชีวิตของตน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า หนึ่งในสถาบัน ที่คนในสังคมเห็นว่ามีความสำคัญคือ “สถาบันครอบครัว”
เป็นที่น่าสนใจว่าสาเหตุที่ประเทศไทยมีการกำหนดให้มีวันครอบครัวขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2532 ก็เนื่องจาก เนื่องจากคณะกรรมมาธิการกิจการสตรีและเยาวชน สภาผู้แทนราษฎร ได้รับทราบผลสรุปจากการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ที่พบว่า "ปัญหาครอบครัว" เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงต่าง ๆ ในสังคมตามมาเป็นลูกโซ่ เช่น ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม ปัญหาทำร้ายร่างกาย ฯลฯ มีการเชื่อมโยงกันว่าปัญหาที่เกิดขึ้น นั้นเนื่องจากครอบครัวที่ไม่มีความอบอุ่น ขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัว รวมไปถึงวิถีชีวิตคนต่างถิ่นที่ต้องดิ้นรน เข้าเมืองใหญ่ เพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพ ต้องทิ้งพ่อแม่ที่ชราภาพและลูกหลานไว้ที่บ้านเกิด ทำให้บางครอบครัวไม่มีเวลาสั่งสอนอบรมลูก
สบายใจเลย ขอหยิบ 3 คำที่ได้มีการกล่าวถึงว่าเป็นปัญหาเมื่อ 32 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีการกำหนดเป็นวันครอบครัวนะคะ คือคำว่า “ครอบครัวไม่อบอุ่น” ครอบครัวมีความขัดแย้ง และ “ครอบครัวที่ไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัว”
ต่อมา Fast forward อย่างเร็วมาถึงปี 2565 จากการสำรวจความเห็นทั่วไปในโซเซียลมีเดีย จากเพจเฟสบุ๊คหนึ่งเพจเมื่อปลายปี 2565 ที่มีคนมาตั้งกระทู้ว่า “สาเหตุอะไรที่ ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อ่่ยากมีลูก” หรือถ้าตีความรวมก็คือไม่อยากมีครอบครัวนั่นแหละค่ะ
พบว่ามีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นกว่า 400 รายการ มีทั้งทีเล่น ทีจริงประมาณนี้เลยค่ะ (ใช้วิธีคัดลอกแล้ววางเลย เป็นรูปแบบจริงๆ ที่เขาเขียนเข้ามาเลย)
เพราะสังคมมัอยู่ยาก สังคมน่ากลัวขึ้นทุกวัน มีการกล่าวถึงการเมือง
รอเปลี่ยนรัฐบาล
ไม่อยากมีภาระ ดูแลตัวเองให้รอดไม่เป็นภาระใคร
ไม่พร้อม
ลำบาก
ไม่อยากรับผิดชอบ
ไม่อยากเสียสละ
ใช้เงินเยอะ ค่าครองชีพสูงขึ้น
ค่าเล่าเรียน / สมัยก่อนค่าเทอม 300-500 สมัยนี้ 12000-15000 ค่าแรง 335 เรียนโรงเรียนวัด ก็รู้ผลเลย ถ้าเทียบในตัวจังหวัด
หมดเวลา ผ่อนบ้านผ่อนรถ กว่าจะหมดหนี้ หมดลมเบ่งละค่ะ
ไม่มีเวลาเลี้ยงลูก
อยากให้เวลากับตัวเอง
อยากให้เวลากับพ่อแม่
แก่มาขายสมบัติไปอยู่บ้านพักคนขรา
สอนยาก
กลัวผิดหวัง
เลี้ยงตัวเองยังเหนื่อย
เกิดมาแล้วคุณภาพชีวิตไม่ดี
ไม่มีสมบัติให้
ไม่มีเมีย
สมัยก่อนเลี้ยงลูก 5 คนยังทำได้เดี๋ยวนี้คนเดียว ค่าเทอม ค่ารถ
เป็นคนชอบอิสระ ไม่ชอบผูกมัด
คิดเป็นตัวเลขออกมาแล้วไม่คุ้มที่ลงทุน ยิ่งถ้าเวลามาสร้างปัญหาให้ด้วยยิ่งไม่คุ้มที่ลงแรงใจ
เหนื่อย
ดูแลตัวเองยังลำบาก กลัวเขามาลำบากด้วย
กลัวไม่รอด
เว้ายาก ต้องใช้หนี้ลูกทุกมื้อ
กลัวเลี้ยงลูกคนเดียว
ข่าวหนุ่มลืมเมียไว้ที่กบินท์บุรี
ไม่อยากแชร์ความสบาย
ขาดความอดทน และความรับผิดชอบ
สามีไม่ดี
รักลูก และไม่อยากให้ลูกเหมือนพ่อกันแม่ตอนนี้ ถ้าเขาเกิดมาก็เลี้ยงได้ แต่อยากให้เกิดมาในสภาพแวดล้อมและสังคมที่ดีกว่านี้
กลัวผัวจับได้
หาคนดีมาทำพันธุ์สมัยนี้ยากมากๆ
เกิดมาแล้วยุคนี้ลำบากอย่าเกิดเลยลูก
สังคมสมัยนี้อยู่ยาก เลี้ยงเด็กคนหนึ่งใข้เงินเยอะมากๆ ไม่เหมือนคนรุ่นพ่อแม่เราๆ ที่มีลูกเป็น 10-5 คน เลี้ยงได้สบยมากและมีคุณภาพด้วย
สังคมและรายได้ของพ่อแม่ ขออยู่คนเดียวและตายคนเดียว
เด็กสมัยนี้เกิดมาพร้อมกับปัญหาสังคมมากมาย
สิ่งแวดล้อมแย่ ปัญหาเยอะ
ไม่หวังพึ่งลูก
กลัวใจเด็กสมัยนี้
ไม่่มีความอดทน เป็นพ่อแม่คน ต้องรับผิดชอบทุกอย่าง
สังคม + สภาพแวดล้อม
ความพร้อมครับ รวมทั้งไม่อยากมีภาระ อยากใข้ชีวิตเสรี ก็ดีนะครับ จะได้ไม่ต้องสร้างภาะให้สังคมในอนาคต
คนไม่มีผัวจะมีลูกได้ไง
ไม่มีตังไปสู่ขอ
นำมาซึ่งความทุกข์
เกิดแล้วต้องดับ
เด็กสมัยนี้เข้าใจยาก ต้องรับผิดชอบสูง แบกภาระเพียงลำพัง
มองหาความมั่นคงในชีวิตไม่ค่อยชัด สำหรับเรา
หลักๆ คงเป็นเพราะตัวคนเดียวยังไม่พอกับรายรับเลย
เลี้ยงลูกต้องใช้เงินเยอะ นอกจากเงินคือเวลาที่ให้เค้า
ค่าใช้จ่ายในการดูแลบุตรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
เด็กไม่เชื่อฟังพ่อแม่
เด็กสมัยนี้สอนยาก
ค่าครองชีพแพง แต่กับ่ค่าแรงคนแสนถูก ไม่บันจบกัน สามาเหตุนี้สร้างความลำบากให้ครอบครัวนั้นๆ ได้ไม่น้อย
ก็มันมีไม่ได้นะครับ
สงสารลูกที่จะเกิดมาในอนาคตเริ่มอยู่ยากขึ้นทุกวัน
ลำบากคนเดียวก็พอ
สังคมยุคสมัย เด็กพูดยาก พูดอะไรไม่ฟัง ความคิดเขาจะเป็นใหญ่กว่าคนเป็นผู้ใหญ่เสอม เขาจะไม่ฟังผู้ใหญ่เลย ทั้งๆ ที่เขาผิดเต็มคาราเบล
ฝืนธรรมชาติ
เพราะมีปัญหาสังคมรอบด้าน แม้คนดีๆ และมีเงินก็อยู่ยาก ไว้ใจใครไม่ได้ ขาดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
คุณภาพชีวิตติดลบ
หลายคุ่อยู่กันไม่นานพอ ที่จะร่วมกันวางแผนเพื่อที่จะมีลูก ต้องมาเลิกร้างกันไปเสียก่อนนะครับ คนดีๆ หาง่าย แต่จะดีได้ไม่นาน เป็นความเห็นส่วนตัวนะ
กลัวเสียใจตอนมันโต
ไม่มีเงินซื้อแพมเพิส
สังคมสมัยนี้น่ากลัว จบที่เราดีที่สุด ความสุขชีวิตคู่ไม่ใช่แค่ลูกมาเติมเต็มถึงจะสุข สุขได้เพราะเติมใจและเข้าใจกันต่างหาก บางครั้งการมีลูกก็ไม่ได้ตอบโจทย์ความจริงองความสุข ดีไม่ดีอาจทุกข์มากกว่าสุขเสียเอีด ดังสุภาษิต มีลูกเหมือนมีบ่วงผูกคอ
สมัยนี้ ชีวิตคู่ไม่มีความแน่นอนค่ะ ผู้หญิงแข็งแกร่งขี้น ดูแลตัวเองได้ ไม่ง้อผู้ขาย หากแยกทาง กรรมไม่ต้องตกที่เด็ก
ค่าใช้จ่ายสูง กล้วเลวเหมือนตัวเอง
ไม่อยากให้เขาเกิดมาอดๆ อยากๆ เหมือนเราค่ะ
เด็กมันสอนยาก ไม่เหมือนรุ่นเก่า
เด็กยุคนี้มันเลี้ยงยากดูจากลูกตัวเองนะ ดื้อเหมือนพ่อแม่มัน ขำๆ
เพราะรู้ว่าไม่สามารถทำอย่างแม่ได้ครับ
ผมเป็นกะเทย
คนถูกสอนให้มองการไกล คนที่ฉลาดหลักแหลมจะไม่อยากมีผัว ไม่อยากมีเมีย
เด็กรุ่นใหม่ ความรับผิดชอบต่อส่วนรวมน้อย เลยไม่อยากต้องมีภาระในการเลี้ยงดูลูก พ่อแม่ยังไม่ค่อยเลี้ยงเลย
ถ้ายาบ้าหมดจากประเทศก็คงมีคนอยากมีลูก
เห็นแม่เหมือนพวกมันจะมองเห็นตัวเอง
โรงเรียนอนุบาล ประถม มัธยมในที่ห่างไกลทะยอยปิด เพราะไม่มีเด็กเรียน นักเรียนส่วนหนึ่งมาจากลูกจ้างต่างชาติ
ยุ่งยากการเลี้ยงดู รายรับ รายจ่ายในครอบครัว
โรคเลียบกันแบบไม่มีลูก
เก็บเงินเที่ยวต่างประเทศ อยู่คอนโด ในอนาคตเมิองไทยจะมีครอบครัวเดี่ยว ส่วนครอบครัวขยายเหมือนสมัยก่อนก็จะหมดไป
อยากมีแต่มันไม่มี -หมูอ้วน หมูน้อย
เรามีแล้ว 3 คน หัวจะปวด อย่ามีเลยค่ะ ต้องหาทุกๆ อย่างไว้ให้กับเขา คนรุ่นใหม่หากินเองยังไม่รอดเลย แถมไข่ทิ้งไว้ทั่วไปอีก แต่ไม่ใช่ลูกเราหรอก เห็นแถวบ้านมีเยอะมากๆ
เข้าถึงธรรม ดับทุกข์
คนเรามีความต้องการมากขึ้น ภาระเลยเพิ่มขึ้นมากกว่าแต่ก่อน รวมถึงคนที่เราต้องดูแลก็มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นด้วย ต้องหาตังค์ให้ทัน กว่าจะเอาตัวเองรอดได้แบบมั่นคงก็แก่แล้ว ไม่ต้องมีแฟน มีลูกกัน
พวกชอบสนุก แต่ไม่อยากรับผิดชอบ
ความกล้วข้างหน้าคิดมาก เอาปัญหาข้างหน้ามาแต่ก็ไม่แก้ไม่ได้ คนรุ่นเก่าเอากันแล้วแก้ปัญหาทีหลัง ปัญหาเกิดแล้วค่อยๆ แก้ไป คนรุ่นใหม่เอาปัญหาอนาคตที่ไม่ตรงความจริงมาก่อน
นมกระป๋องแพงชิปหาย นมแม่ก็แห้ง
เจอแต่คนหลายใจ
กลัวลำบาก ซึ่งผิด มีลูกจะไม่ลำบาก เพราะจำนวนมากลูกมาช่วยงาน ช่วยหาเงิน
เมื่อเอาความคิดเห็นนั้นมาขมวดเป็นประเด็นพบว่า จะเป็นเรื่องของข้อจำกัด 3 ด้านหลักเรื่องได้แก่
เรื่อง ค่าใช้จ่าย คือ สภาพเศรษฐกิจ การศึกษา
เรื่อง ความปลอดภัย คือ สังคม สภาพแวดล้อม การเมือง
เรื่อง ภายในของตัวเอง เช่น คือ ความเหนื่อย การเลี้ยงดู การไม่มีเวลา การสอนเด็ก ฯลฯ
เมื่อเอาปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อ 32 ปีที่แล้ว มาวิเคราะห์รวมกับแนวคิดของคนปัจจุบัน (ซึ่งประมาณการณ์ได้ว่า คนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นน่าจะอยู่ในช่วงที่พร้อมจะมีลูกหรือไม่ก็เลยวัยมีลูกไปแล้ว ช่วง 20-52 ปี) ก็หมายความว่าความไม่อยากมีลูกนั้นมีมานานแล้ว ต่อมา 32 ปีผ่านไป ก็ยังกลัวเรื่องปัญหาครอบครัวเหมือนเดิม
ที่ยกตัวอย่างทั้งสองกรณีนี้มาเปรียบเทียบให้ดูก็เพื่อให้เห็นว่า สังคมไหนก็แล้วแต่ รวมถึงสังคมประเทศไทยด้วย ก็เกิดจากสถาบันเล็กๆ ที่เรียกว่าครอบครัวนั่นเอง แต่คนส่วนหนึ่ง (อย่างน้อยก็ที่มาแสดงความคิดเห็น) กลับมีทัศนคติที่เชิงลบ เกี่ยวกับเด็กและครอบครัว และสิ่งที่เขากลัวคือปัจจัยภายนอกตัวเขาเองได้แก่ สภาพเศรษฐกิจและสังคม (ซึ่ง 2 ปัจจัยนี้ขับเคลื่อนด้วยคนและคนๆ นั้นมาจากครอบครัว)
นั่นแปลว่าคนเรากำลังหลงกลัวไปในสิ่งที่เราคิดว่ามันเป็นเรื่องนอกตัว แต่แท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องของทุกคน กลับมาเริ่มต้นที่ตัวเรา และคนในครอบครัวนั่นเอง
แม้ว่าเราจะพยายามไม่มีลูก ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรใดๆ เกี่ยวกับครอบครัว แต่ไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่เรากลัวและกังวลนั้นจะไม่เกิดขึ้น เพราะคนอื่นๆ ในสังคมก็มาจากคนสร้างคน หรือ มาจากสถาบันครอบครัวนั่นเอง นั่นคือ ถ้าเราไม่สร้างคนที่มีคุณภาพเอง ด้วยความ เบื่อ เหนื่อย กังวล และความกลัวนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้สังคมและเศรษฐกิจที่ดีมาได้ แต่เราจะได้อะไรก็ไม่รู้ ที่เราเองไม่ได้มีส่วนร่วมเลยแต่เรารับผลเต็มๆ
ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเชียร์ให้ทุกคนมีลูกและครอบครัวนะคะ เพียงแต่อยากให้เรามองภาพให้กว้าง และเข้าใจให้ตรงกันว่า ความวิตก กังวล และความกลัวของเรานั้น มันไม่ได้ทำให้ปัญหานั้นหายไป ฉะนั้นแล้ว แม้ว่าเราไม่มีลูก ไม่มีครอบครัว แต่เราควรจะมีส่วนร่วมในการสร้างคนและสังคมให้ดีขึ้น มีส่วนร่วมในการพัฒนาคนในทางใดทางหนึ่ง ยกตัวอย่าง เช่น ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว กับเด็กและเยาวชน เพื่อที่เขาเหล่านั้นจะได้สร้างคนรุ่นใหม่ที่จะมาเป็นผู้บริหารครอบครัว องค์กร หน่วยงาน และประเทศของเราได้อย่างที่เราต้องการนั่นเองค่ะ
สบายใจเลยในฐานะที่มีความรัก ในเรื่องการสร้างครอบครัวที่มีความสุข จึงขอเสนอตัวเป็นสื่อกลาง เป็นคนที่สื่อสารให้ได้รับรู้ว่า ครอบครัวที่ดี และคนที่มีคุณภาพ นั้นสร้างได้ และไม่น่ากลัวแบบที่คุณคิด เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการปรับความเชื่อ และความคิดที่ถูกต้องก่อน แล้วจากนั้นเรามีอะไรที่จะทำให้ชีวิตนั้นดีและมีความสุขอีกมากมายค่ะ (โดยที่ไม่ต้องมีลูกก็ได้นะคะ ไม่ต้องกลัว 🙂)
Comments