top of page
eatloeithailand

13 เมษายน 2566 - วันผู้สูงอายุไทย

Updated: Apr 19, 2023

ต่อเนื้องจากวันครอบครัวไทย ก็มาถึงวันผู้สูงอายุไทยกันเลยค่ะ ถ้าจะว่าไปแล้วในแต่ละโอกาส แต่ละวัน ที่สังคมกำหนดขึ้น ก็เป็นการแสดงออกและการเล่าเรื่องราวของคน โดยคนเรานี่เอง นี่แหละเขาถึงเรียกคนว่าเป็นมนุษย์ เป็นสังคม เพราะเรามีการให้ความหมายกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ในมุมมองที่น่าสนใจ


เมื่อวานนี้ได้ชวนคุยไว้ว่า ไม่ต้องกลัวเรื่องการมีลูกหรือมีครอบครัว เพราะถึงเราจะมีหรือไม่มี คนรุ่นใหม่ๆ ที่เกิดมา (แม้ไม่ใช่ลูกเรา ไม่ใช่คนจากครอบครัวเรา) ก็ย่อมมีผลต่อชีวิตเรา และสังคมเราเหมือนเดิม และเราๆ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือไม่เป็นก็แล้วแต่ก็จะกลายเป็นคนสูงอายุต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ เช่นเดียวกัน เพราะจริงๆ แล้วเราอยู่ในโลกใบเดียวกัน ก็เสมือนเป็นครอบครัวเดียวกันอยู่ดี


ฉะนั้นแทนที่เราจะอยู่ในความวิตก กังวลว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี สังคมจะแย่ สิ่งแวดล้อมจะล่มสลาย สงครามจะล้างเผ่าพันธุ์ หรือตัวเราไม่ดีพอ (ซึ่งความคิดเหล่านี้เป็นธรรมดาของคนที่อยู่ในภาวะการเอาตัวรอด เป็นสัญญาตญาณดิบของมนุษย์ที่ต้องมองโลกในแง่ร้ายไว้ก่อน เพื่อมั่นใจว่าเขาจะอยู่รอดปลอดภัย แม้ปัจจุบันนี้ ความปลอดภัยในชีวิตที่ถึงขั้นเสียชีวิต แทบจะไม่มีแล้ว แต่สมองส่วนนี้ของคนยังทำงานอยู่ และทำงานได้อย่างดีถ้าเราไปกระตุ้นหรือใช้งานมันบ่อยๆ) หากเปลี่ยนจากแง่ลบไปเป็นบวกไม่ได้ทันที เรามาปรับสภาพให้อยู่ตรงกลางก่อนก็ยังดี คือมองทุกอย่างให้เห็นอย่างที่มันเป็น


ถ้าจะว่าไปแล้ว ทุกอย่างที่เกิดขึ้นก็เป็นตามวัฏจักรและวงจรของมันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาวะภัยธรรมชาติ สงคราม โรคระบาด เศรษฐกิจตกต่ำ สังคมปั่นป่วน เรื่องร้ายๆ เหล่านี้ไม่ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต และไม่ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้นในอนาคตอีก มันจะเกิดขึ้นอยู่แล้วตามลักษณะธรรมชาติที่ควรจะเป็น และหากถ้ามองเป็นกลางๆ ได้แล้วก็ขยับมุมมองไปทางที่ดีที่เป็นบวก เพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้ชีวิตหน่อยก็ดีนะคะ ว่าภายใต้ความเลวร้ายของสถานการณ์เหล่านั้น สิ่งดีๆ สิ่งใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นในโลกนี้ ในชีวิตนี้อยู่เหมือนกัน


กลับเข้าเรื่องวันผู้สูงอายุกันต่อนะคะ ในบล้อกของสบายใจเลยเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว สบายใจเลยได้ทำลำดับขั้นของคนในแต่ละช่วงวัยไว้ และวันนี้จะเอามาคุยตรงนี้อีกรอบ เพื่อให้เข้ากับหัวเรื่องของสังคมสูงวัย หรือวันผู้สูงอายุแห่งชาติในปี 2566 นี้ เรามาทำความรู้จักกับคนรุ่นต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลของปี 2565 นะคะ

กลุ่ม 1 ยุคก่อนสงครามโลก (Greatest Gen) เกิดช่วงปี ค.ศ. 1901-1924, พ.ศ. 2444-2467 (อายุมากกว่า 98 ปี) กลุ่มนี้จะยังเหลือมาพูดคุยกับเราไหมหนา?

กลุ่ม 2 ยุคระหว่างสงครามโลก (Silent Gen) เกิดช่วงปี ค.ศ. 1925-1945, พ.ศ. 2468-2488 (อายุ 77-97 ปี) กลุ่มนี้ในกลุ่มที่ดูแลตัวเองดี หลายคนยังอ่าน/เขียนหนังสือ เดินทางท่องเที่ยว/ขับรถได้ และที่สำคัญ มีความรู้ และความเห็นที่น่าสนใจทีเดียว

กลุ่ม 3 ยุคสิ้นสุดสงครามโลก (Baby Boomer) เกิดช่วง ค.ศ. 1946-1960, พ.ศ. 2489-2503 (อายุ 62-76 ปี) กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เต็มที่กับชีวิตการศึกษา การทำงาน และพึ่งจะได้พักจากงานประจำ ส่วนใหญ่ยังแข็งแรงกระฉับกระเฉง และสามารถให้แนวคิดกับคนรุ่นใหม่ๆ ได้เยอะในประเทศที่พัฒนาแล้ว บางกลุ่มยังไม่เกษียณทำงานได้จนถึง 65-70 ได้

กลุ่ม 4 ยุคที่มีการควบคุมอัตราการเกิด (Gen X, Baby Bust หรือ Xennials) เกิดช่วงค.ศ. 1960-1980, พ.ศ. 2503-2523 (อายุ 43-62 ปี) วัยนื้ถือว่าเป็นหัวเรี่ยว หัวแรงสำคัญของชาติอยู่ เป็นวัยทำงานช่วงปลายๆ แล้ว ใครที่ปรับตัวช้าก็จะค่อนไปทางคนรอวันเกษียณ แต่คนที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงก็จะคึกคัก จี๊ดจ๊าดใช่เบา

กลุ่ม 5 ยุคการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Gen Y-millennial หรือ Gen Next) เกิดช่วง ค.ศ.1981-1994, พ.ศ. 2524-2537 (อายุ 25-42 ปี) รุ่นนี้เหมือนรุ่นที่อาจยังสับสนกับตัวเองว่าจะไปทางไหน เป็นวัยแรงงานที่สำคัญของประเทศ

กลุ่ม 6 ยุคเติบโตมาพร้อมเทคโนโลยี (iGen หรือ Gen Z) เกิดหลังจาก ค.ศ.1995-2012, พ.ศ. 2538-2555 (อายุ 9-27 ปี) วัยนี้ถือเป็นวัยประถมปลาย ไปถึงปลายมหาวิทยาลัย

กลุ่ม 7 ยุคการแชร์เทคโนโลยีและยุคปัญญาประดิษฐ์ (Social networking and Artificial Intelligence , Gen Z-Alpha) เกิดหลังจาก ค.ศ. 2013, พ.ศ. 2556 (อายุน้อยกว่า 9 ปี) เป็นวัยที่ทุกคนกำลังจับตามอง ว่าเขาจะเป็นคนหรือเป็นหุ่นยนต์


ประชากรโลก และประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งคนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นกลุ่มที่เรียกว่า Baby boomer แต่ในประเทศไทยการเพิ่มของประชากรไทยจะเป็นกลุ่่ม Baby Bust มีจุดที่สำคัญคือปี พ.ศ. 2506 – 2526 ซึ่งเรียกว่ารุ่นเกิดล้าน ปัจจุบัน (ปี 2566) อายุจะอยู่ระหว่าง 40-60 ปี


รัฐบาลสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงกับมีนโยบายการเพิ่มจำนวนประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศ เช่น จัดพิธีสมรสหมู่ จัดงานวันแม่ จัดประกวดแม่ลูกดก ประกาศใช้พระราชบัญญัติ สงเคราะห์ผู้มีบุตรมาก เป็นต้น ฯลฯ หลังจากนั้นก็เข้าสู่ช่วงความพยายามในการลดประชากร มีนโยบายการวางแผนครอบครัว ในรัฐบาลสมัยจอมพลถนอม กิติขจร และรัฐบาลในยุค ต่อ ๆ มา โดยมีสโลแกนและเพลงที่คนเจน X น่าจะจำได้ “ลูกมากจะยากจน เลี้ยงดูแต่ละคนเหนื่อยอ่อนใจ กว่าลูกน้อยจะเติบใหญ่ หาได้เท่าไหร่ ก็ใช้ไม่พอ”


ผลต่อเนื่องจากการมี เด็กเกิดน้อยหลังปี 2526 ก็ส่งผลกระทบให้เกิดความไม่พอดีกับระบบการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมที่สร้างไว้รองรับเด็ก เช่น ระบบการศึกษาก็จะมีโรงเรียน มหาวิทยาลัยที่ต้องทะยอยปิดตัวลง เพราะไม่มีผู้มาเรียน ระบบเศรษฐกิจก็เรื่องการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม เป็นต้น และในระบบสังคมก็ทำให้สถาบันที่เป็นกำเนิดของพลังรัก พลังบวก พลังสู้ชีวิตนั้นลดน้อยถอยลง ทำให้เกิดสภาวะความโดดเดี่ยวกันมากขึ้น (การมีครอบครัว เป็นสิ่งที่ทำให้คนมีความหวังในชีวิต มีการตั้งเป้าหมาย มีแรงกระตุ้น แรงขับเคลื่อนชีวิตที่่สำคัญในระดับต้นๆ เลยทีเดียว)


คำนิยามของผู้สูงอายุ นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาค แต่ละองค์กร ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเรียกกลุ่มคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ว่าผู้สูงอายุ ขณะที่องค์การสหประชาชาติ ซึ่งรวบรวม วิเคราะห์ และรายงานข้อมูลสถิติเกี่ยวกับผู้สูงอายุ กำหนดว่าผู้สูงอายุ (Elderly Person) คือ คนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ใบประเทศไทยได้ใช้เกณฑ์ของสหประชาชาติ ที่ระบุว่าผู้สูงอายุ หมายถึง “บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย”


สังคมผู้สูงอายุยังมีการแบ่งออกเป็นหลายระดับด้วยนะคะ โดยจะดูจากร้อยละของประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเทียบกับประชากรทั้งหมด (ประชากรประเทศไทยปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 66 ล้านคน)

  1. สังคมกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging Society) หมายถึง สังคมนั้นมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวน ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งถือเป็นผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง

  2. สังคมสูงอายุ (Aged Society) หมายถึง สังคมที่มี ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 10 ของ ประชากรทั้งประเทศ หรือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด

  3. สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Completely Aged Society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือเป็น สังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด

  4. สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่า ร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ หรือเป็นสังคมที่มี ป ร ะ ช าก ร อ า ยุ 6 5 ปีขึ้นไป เ กิน ก ว่ า ร้ อ ยล ะ 2 0 ของประชากรทั้งหมด


หากพูดถึงวันผู้สูงอายุเมื่อ พ.ศ. 2525 หรือ 40 ปีที่ในสมัยรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ได้มีการกำหนดให้เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ คงเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อและไกลตัวมาก แต่มาถึงพ.ศ.นี้แล้ว หากดูจากการแบ่งชั้นข้างต้น ก็สรุปได้ว่า ประเทศไทย เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับ 2 มาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อปี 2564 ประเทศไทยมีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปกว่า 12 ล้านคน จึงจัดว่าเป็นปีที่ประเทศได้เข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) อย่างแท้จริง โดยในปี 2565 มีจำานวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น ร้อยละ 18.3 ซึ่งกำลังขยับเข้าใกล้ระดับ 3 เป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Completely Aged Society) และมีการคาดการณ์ไว้ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า คาดว่า ประเทศไทยจะมีสัดส่วนของผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 3 ของ ประชากรทั้งประเทศ นั่นคือการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ระดับสุดยอด (Super-Aged Society) นั่นเอง


ในตอนนี้ ก็เป็นการวิเคราะห์ให้เห็นว่า แม้หลายหน่วยงานให้ข้อมูลว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบไว้พอสมควร ส่วนใหญ่ก็จะนำเสนอไปในแนวทางที่น่าวิตกกังวล แต่ถ้าเราเลือกที่จะมองสิ่งเหล่านั้นให้เห็นอย่างที่มันเป็น เราก็จะมองเห็นว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง และจะอยู่กับเหตุการณ์นั้นๆ ได้อย่างไร อย่างมีความสุข อีกไม่กี่เดือนเดือน 1 ตุลาคม จะมาคุยกันต่อเนื่องในวันผู้สูงอายุสากลกันนะคะ


คำถามที่สำคัญก็คือ เราจะเตรียมตัวให้มีความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุได้อย่างไร จะให้เขาเป็นวัยซึมเศร้าหรือให้เป็นซู่ซ่าได้อีกครั้ง? จะให้เขา เป็นภาระหรือเป็นพลัง? ตอนต่อไปเราจะมาคุยกันต่อว่า แล้วเรื่องของการที่คนรุ่นไม่ใหม่ ไม่อยากมีลูก ไม่อยากมีครอบครัว จะสัมพันธ์กับภาวะสังคมคนสูงอายุอย่างไร ติดตามนะคะ


Comentários


bottom of page